“สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากลงนาม JTEPA กับญี่ปุ่น แม้ว่าในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ตัว เราอาจจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากภาษีนำเข้าสูงกว่า เพราะประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น การคำนวณภาษีนำเข้าที่ญี่ปุ่นจัดให้เรา จึงอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่เรื่องสำคัญที่เห็นได้ขัดคือ ไทยจะขยายขอบเขตการค้าได้มากขึ้น นอกจากเรื่องภาษีแล้วยังคำนึงถึงความสัมพันธ์ และการส่งถ่ายการลงทุน การส่งผ่านเทคโนโลยีการผลิตอีกทั้งเรายังได้รับวัตถุดิบในสิ่งที่ประเทศเราขาดแคลน หรือไม่มีมาผลิตให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิดการค้านี้ จะทำให้เรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาษที่ไม่ได้ด้อยกว่าเราเท่าใดนัก”
ไพบูลย์ พลสุวรรณา
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ในจัดทำเขตการค้าเสรีต่าง ๆ จะมีประเด็นหลักที่การเร่งลดอากรขาเข้าในอัตราต่ำที่สุด หรือที่เป็นศูนย์ให้กับสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศภาคีนั้น ๆ ส่งผลให้สินค้ามีราคาจำหน่ายถูก ถือเป็นการเปิดตลาดให้มีการแข่งขันซึ่งกันและกันนั่นเอง สำหรับสินค้าอ่อนไหว สินค้าที่ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือสินค้าที่ไม่ต้องการเปิดตลาดการค้าเสรีด้วยเหตุผลอื่น ก็จะใช้ “กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิด” ที่เข้มงวด จึงเป็นเครื่องมือเปิดตลาดที่สำคัญ สำหรับการเจรจาเปิดการค้าเสรี
ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี
ประธานคณะกรรมการอุปสรรคการค้าที่มิใช่ภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“หากมีการเปิดการค้าเสรีทางการเงินการธนาคารแล้ว คงจะต้องมีการแข่งขันทางการเงิน ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่เสียฝ่ายเดียว ถ้าเราไปทำกับประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเรา สถาบันการเงินการธนาคารที่ความเข้มแข็งกว่าเรามาก เราก็จะเป็นฝ่ายตั้งรับฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำการค้าเสรีด้านการเงินกับใคร คงต้องดูทั้งสองฝ่ายว่าเราเองสามารถที่จะเข้าไปลงทุนกับเขาได้ และเขาลงทุนกับเราได้ ต้องดูประเทศที่เล็กไม่ได้ก้าวหน้ามากในเรื่อง banking อย่างเช่นในจีน เราบอกว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากเหลือเกิน ถ้าตลาดใหญ่มาก ๆ แล้ว เราเองเป็นสถาบันการเงินสามารถไปเปิดได้ ก็จะมีโอกาสที่จะทำได้ แต่ว่าทั้งหมดในการเจรจา FTA และการเปิดเสรี ผมว่าไม่ใช่ดูเรื่องบางเรื่อง มันต้องดูผลประโยชน์รวมทั้งหมด เราอาจจะต้องเสียบางอย่างไปบ้างในเรื่องของการเงิน แต่เราอาจจะได้ในบางอย่างในเรื่องของอุตสาหกรรม หรือ เกษตรกรรม ผมคิดว่าเวลาดูจะดูแค่ sector เดียวไม่ได้ เราต้องดูทั้งหมด แล้วชั่งน้ำหนักว่า ผลประโยชน์ของเราทำได้หรือเปล่า”
อดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
ประธานสมาคมธนาคารไทย
“กระแสการจัดทำ FTA ที่เกิดขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกประเทศต่างต้องการมุ่งแสวงหาโอกาสทางการค้า ทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการจากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม บางธุรกิจอาจไม่ได้ “โอกาส” ทางการค้าจาก FTA เพราะขาด “ศักยภาพ” ในการแข่งขัน จึงจำเป็นต้อง “ปรับตัว” โดยเฉพาะทางการผลิต “สินค้าให้ได้มาตรฐาน” เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและปรับโครงสร้างการผลิตสามารถแข่งขันได้ แต่การปรับตัวของบางธุรกิจอาจจะมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน จึงควรต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
สำหรับภาคสังคมก็คงจะได้รับผลกระทบจาก FTA เพราะผู้บริโภคอาจจะมีสินค้าจากต่างประเทศให้เลือกมากขึ้นและในราคาที่ถูกลง แต่ก็ต้องสนใจถึง “มาตรฐานและความปลอดภัย” ของสินค้าต่าง ๆ ด้วย การสร้างความแข็งแกร่งของภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน”
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
“เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเริ่มไปเจรจา อยากให้ภาครัฐมองภาคธุรกิจเหมือนเป็นลูกค้า โดยสื่อสารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า จะได้ไปเจรจาได้ถูกต้องตรงตามความต้องการ ภาคธุรกิจต้องมีการศึกษาเรื่องนี้และเตรียมพร้อมปรับตัวมองหาโอกาสใหม่ ๆ ตลอดเวลา”
กลินท์ สารสิน
ค้าสากลซีเมนต์ไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น