ประโยชน์จาก FTA จะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน ความร่วมมือทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร ข้อคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจรจาของภาครัฐ (เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น) และภาคเอกชนตัวแทนภาคธุรกิจ สมาคม ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมทั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลของการเจรจา ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้เจรจาจัดทำ FTA เดินหน้าไปอย่างมีเอกภาพ และก่อให้ประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงที่สุด
การมีส่วนของภาคเอกชน
ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย FTA ของไทยได้โดยผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย สภาวิชาชีพต่าง ๆ เป็นต้น หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการเกษตรกร หรือประชาชนที่ไม่ได้สังกัดสมาคมใด ๆ ก็สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นหรือส่งข้อเสนอแนะโดยตรงมาได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมความคิดเห็นของเอกชนกลุ่มต่าง ๆ แล้วนำมาประมวลเพื่อหาท่าทีในการเจรจาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด
การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ
ภาครัฐได้เตรียมมาตรการรองรับการเปิดเสรีโดยได้เร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้
1) แต่งตั้งคณะติดตามประเมินผลการเจรจา และเสนอแนะมาตรการรองรับ
2) ปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนการให้บริการของภาครัฐ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้การค้ามีความคล่องตัวขึ้น เช่น ลดขั้นตอนขบวนการพิธีการทางศุลการกร เร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
3) การกำหนดมาตรฐานสินค้าในประเทศ และมาตรฐานนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ
4) มีระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างฉับพลัน และรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภายในจากการทำ FTA โดยติดตามการนำเข้าอย่างใกล้ชิด หากมีการทุ่มตลาด หรือมีการนำเข้ามามากจนอาจเกิดผลกระทบต่อการผลิตภายในประเทศ จะสามารถนำมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิมาตรการปกป้อง มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดหรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาใช้ได้ในทันท่วงที
5) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากร การสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ
6) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเฉพาะด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
7) ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศ
8) ปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ
9) พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้มแข็งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์จาก FTA
10) ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อติดตามความคืบหน้าผลของการเจรจา เพื่อหารือประเด็นปัญหาที่เกิดจากการทำ FTA และเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
11) รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศโดยให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี นอกจากนี้ อยู่ในระหว่างตั้งกองทุนช่วยการปรับตัวรองรับการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจภาคบริการ
การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน
ภาคเอกชนก็ต้องมีการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการทำเขตการค้าเสรีได้อย่างเต็มที่
1) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจัดการ การบริหารต้นทุน ปรับใช้เทคนิคการบริหารสมัยใหม่ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย
2) พัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า โดยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้สูงขึ้น เพื่อเข้าสู่ตลาดระดับบน ซึ่งจะช่วยลดการแข่งขันในสินค้าระดับล่าง และสร้าง Brand Name สินค้าของไทยสู่ตลาดโลก
3) ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตให้สูงขึ้น
4) พัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และช่างเทคนิคให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและระดับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
5) พัฒนาและขยายตลาดเชิงรุก โดยให้ตลาดเป็นตัวนำ ผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ขยายช่องทางการตลาดในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น มีกระบวนการผลิตและการส่งมอบสินค้าอย่างรวดเร็ว
6) พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนของประเทศที่ร่วมจัดทำเขตการค้าเสรี เช่น การจัดตั้งสภาธุรกิจ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น